iN:“การขนส่ง” (Transportation) กับการตัดสินใจเลือกที่ตั้งคลังสินค้า

“การขนส่ง” (Transportation) กับการตัดสินใจเลือกที่ตั้งคลังสินค้า

     หากกล่าวถึงการตัดสินใจเลือกที่ตั้งคลังสินค้า โดยทั่วไปทุกคนมักจะเลือกที่ตั้งคลังสินค้าโดยพิจารณาต้นทุนค่าเช่าหรือค่าสร้างคลังสินค้าที่ถูกที่สุดเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงยังมีปัจจัย “การขนส่ง” ที่มีความสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจเลือกทำเลที่ตั้ง ทั้งนี้เนื่องจากการขนส่งจากแหล่งผลิตไปยังคลังสินค้าและจากคลังสินค้าไปยังลูกค้าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า “ ค่าขนส่ง” (Transportation Costs) มีอิทธิพลต่อการเลือกที่ตั้งคลังสินค้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากค่าขนส่งมีผลต่อต้นทุนการผลิตและถ้าโรงงานอุตสาหกรรมเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งมากก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นและความสามารถในการแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นก็จะลดลง แต่ถ้าค่าขนส่งต่ำลงก็จะเป็นการลดต้นทุนการผลิตลงและราคาสินค้าก็จะถูกลง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นหรือขอบเขตบริเวณตลาดก็จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นโรงงานอุตสาหกรรมจึงพยายามค้นหาที่ตั้งที่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด หรือมีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด ซึ่งจะต้องมีการคำนึงถึงระยะทางในการขนส่งด้วย เพราะระยะทางในการขนส่งเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อค่าขนส่งและตัวแปรทางด้านระยะทางนี้เองที่ทำให้ราคาสินค้าและราคาวัตถุดิบแตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นที่ตั้งที่มีความเหมาะสมที่สุดในการตั้งคลังสินค้า ก็คือ ที่ตั้งที่มีค่าขนส่งรวมต่ำสุด (Point Of Minimum Transport Cost) หรือเรียกว่า “Optimum Location” นอกจากนี้วิธีการขนส่ง  (Mode of Transport) ก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อ ค่าขนส่งเช่นกัน วิธีการขนส่งที่ใช้ในอุตสาหกรรมแบ่งได้ตามชนิดของเส้นทาง ดังนี้
1  ทางบก ได้แก่ ทางถนนและทางรถไฟ ซึ่งวิธีการขนส่งทางถนนเป็นวิธีที่นิยมมากกว่าทางรถไฟ เพราะการขนส่งทางถนนมีความสะดวกและสามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางได้อย่างเสรี ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจะมักให้ความสำคัญกับการตั้งคลังสินค้าอยู่ใกล้กับทางหลวงขนาดใหญ่ เนื่องจากทางหลวงขนาดใหญ่จะทำให้ประหยัดเวลาในการขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ได้มากกว่าถนนขนาดเล็ก ซึ่งเวลาที่ประหยัดได้นั้น อาจมีค่ามากกว่าค่าน้ำมันรถขนส่งที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นสำหรับระยะทางที่ไกลกว่า ถ้าคลังสินค้าไปตั้งอยู่ไกลแต่อยู่บนถนนทางหลวงกับการตั้งคลังสินค้าอยู่ใกล้แต่อยู่บนถนนขนาดเล็ก 
2  ทางน้ำ เป็นการขนส่งที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบหรือผลิตสินค้าที่มีน้ำหนักมาก และยังเหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่ต้องมีการขนส่งในระยะไกล เช่น การขนส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศหรือมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพราะการขนส่งทางน้ำ เป็นการขนส่งที่ใช้เส้นทางธรรมชาติจึงเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่ใช้ระยะเวลานานในการขนส่งและค่าขนส่งสินค้าขึ้นลง (Terminal Costs) มีสูงกว่าการขนส่งทางถนนและทางรถไฟ ดังนั้น การขนส่งทางน้ำจึงไม่เหมาะสมกับการขนส่งวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ในระยะทางไม่มาก แต่จะเหมาะสมกับการขนส่งวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ในระยะทางที่ไกลๆ 
3  ทางอากาศ เป็นการขนส่งที่รวดเร็วแต่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้การขนส่งประเภทนี้มักจะเป็นสินค้าชนิดพิเศษที่มีราคาสูงที่เหมาะสมกับการเสียค่าใช้จ่ายนั้นๆ ได้
4  ทางท่อ เป็นระบบขนส่งที่มีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากสินค้าที่ขนส่งต้องอยู่ในรูปของเหลว โดยบริเวณที่ท่อผ่านจะต้องมีความชันไม่มากเกินไป เพื่อให้ของเหลวที่ไหลผ่านท่อไม่ไหลย้อนกลับและไม่มีการขนส่งเที่ยวกลับ สินค้าที่นิยมขนส่งทางท่อ ได้แก่ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
 
บทความโดย : อาจารย์อธิวัฒน์ ลีนะธรรม
ภาควิชาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
 
ที่มา ประยุกต์จาก
- การเลือกตำแหน่งที่ตั้งคลังสินค้าโดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ กรณีศึกษา : โรงงานผลิตเบียร์,อธิวัฒน์ ลีนะธรรม
- https://sites.google.com/site/sortingproductsincontainer2/sara-na-ru/rup-baeb-kar-khnsng/kar-khnsng-thang-thx
Cr Pic : http://kryptomoney.com/blockchain-implementation-transportation-industry-bita/